บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพานทันตาเห็น [2]


ในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม 2” มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

“สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเองก็ดี ทิฏฐธัมมนิพพาน นิพพานในปัจจุบันก็ดี มีพระพุทธภาษิตอธิบายไว้อย่างไร”

คุณสุชีพตอบคำถาม ดังนี้

เบื้องต้นขอบันทึกหลักฐานไว้ก่อน เพื่อสะดวกในการติดตามเรื่องและค้นคว้าต่อไป

พระพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับเรื่อง สันทิฏฐิกนิพพานและทิฏฐธัมมนิพพานนั้น มาในพระไตรปิฎก  4 เล่ม คือ 16/22, 139-140, 17/199, 20/202 และ 23/475

หลักการของคำว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเองนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงแก่ชานุสโสณิพราหมณ์ (20/202) ว่า หมายถึง ดับเพลิง คือ ราคะ โทสะ โมหะ

ผู้มีเพลิงกิเลสเหล่านี้ เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว  ย่อมคิดเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ได้รับทุกข์โทมนัสทางจิต

เมื่อ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาด ก็ย่อมไม่คิดเบียดเบียนเช่นนั้น ไม่ได้รับทุกข์โทมนัสทางจิตเช่นนั้น

นี่แหละที่เรียกว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องให้คนอื่นมาเห็นแทน หรือมาบอกว่าได้บรรลุแล้ว)

ส่วนนิพพานในปัจจุบันนั้น หมายความว่า บุคคลอาจปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ในปัจจุบันนี้เอง ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน

กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติจนเกิดความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด, ดับ, หลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่นในเหตุปัจจัย 12 (มีอวิชชาเป็นต้น) หรือในขันธ์ 5 (มีรูปเป็นต้น)

ย่อมนับได้ว่าเป็นผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน

วิพากษ์วิจารณ์

ในบันทึกนี้ ผมจะวิจารณ์ความอ่อนด้อยของพุทธวิชาการ และความเข้าใจของพุทธวิชาการที่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง

จนส่งผลให้การเกิดมาในชาตินี้ “เปล่าประโยชน์”  ไปโดยสิ้นเชิง  ไม่สามารถสร้างบารมีได้บ้างเลย

การเกิดมาของคนในแต่ละชาตินั้น  วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติมให้ครบ  30 ทัศ

เมื่อบารมีทั้ง 30 ทัศครบเมื่อไหร่ ก็ได้เป็นไปตามที่อธิษฐานได้ เช่น พระอรหันต์สาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือ จักรพรรดิ เป็นต้น

จักรพรรดิในที่นี้ หมายถึง จักรพรรดิที่บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่จักรพรรดิอย่างเช่น นโปเลียนมหาราช หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช 

จักรพรรดิท่านสร้างบารมีมาทางอาณาจักร ท่านจึงบรรลุมรรคผลนิพพานแบบไม่ต้องบวช

ความอ่อนด้อยของพุทธวิชาการทั้งหลายในการศึกษาพระศาสนาในยุคนี้ เป็นเพราะ พุทธวิชาการหลงผิด ไปเชื่อวิชาการ จึงดูถูกพระปฏิบัติธรรมในทางวิชาการ

การดูถูกพระปฏิบัติธรรมในทางวิชาการเป็นอย่างไร?

ขอให้ผู้อ่านสังเกตง่ายๆ พุทธวิชาการเคยนำคำสอนหรือข้อเขียนของพระปฏิบัติธรรม เช่น คำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำ คำสอนของหลวงปู่มั่น ฯลฯ มาวิเคราะห์ให้เป็นวิชาการ อย่างที่ผมกำลังทำอยู่หรือไม่?

การกระทำของพุทธวิชาการอย่างนั้น ในทางปรัชญา เราเรียกกันว่า “ผลักดันให้ไปอยู่ชายขอบ

อะไรก็ตามที่เป็นของชายขอบ ก็จะไม่ได้รับความสนใจของพวกกลุ่มวิชาการหลักๆ ของสังคม

ยกตัวอย่างของคุณสุชีพเอง  คุณสุชีพอยู่ในยุคที่มีพระปฏิบัติธรรมเก่งๆ อยู่มาก เช่น หลวงพ่อปาน หลวงปู่มั่น หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมหาสีสยาดอว์ของพม่า ฯลฯ เป็นต้น

คุณสุชีพก็รู้ว่า การในศึกษาศาสนาพุทธนั้น ต้อง “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”  แต่คุณสุชีพก็เลือกที่จะสมาทานความรู้จากตะวันตก คือ ปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก คือ

เชื่อปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก

คุณสุชีพจึงเลือกที่จะ ศึกษาศาสนาพุทธอย่างเป็นนักปรัชญา  จึงทำให้การเกิดในชาตินี้ เสียประโยชน์ไปโดยสิ้นเชิง 

ซึ่งคุณสุชีพก็เสียใจในประเด็นนี้มาก [สัมภาษณ์ตอนที่คุณสุชีพตายไปแล้ว]

ข้อความของคุณสุชีพที่ว่า

“นี่แหละที่เรียกว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องให้คนอื่นมาเห็นแทน หรือมาบอกว่าได้บรรลุแล้ว)”

เป็นหลักฐานที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คุณสุชีพศึกษาศาสนาพุทธอย่างนักปรัชญา

คุณสุชีพนี่ เท่าที่จำได้ แต่ไม่แน่ใจนัก ท่านเป็นเปรียญเก้าตั้งแต่ยังเป็นเณร

ภาษาบาลีท่านมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก คำว่า ญาณทัสสนะ แปลว่า การเห็นการรู้ (ญาณ=รู้, ทัสสนะ=เห็น)  คำว่า เห็นกับรู้ในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมาก  คุณสุชีพก็รู้ดี

แต่คุณสุชีพเชื่อปรัชญามากกว่า จึงทำใจให้รับไม่ได้ว่า “ในศาสนาพุทธมีการเห็นด้วยตาของกายภายใน”  ข้อความในพระไตรปิฎกมี  แต่คุณสุชีพไม่เชื่อ

ในทางวิชาธรรมกายนั้น อายตนะนิพพาน (ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไปอุบัติอยู่)  พระนิพพาน (พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์) และนิพพาน (คำเรียกว่าอายตนะนิพพานกับนิพพาน) นั้นมีจริงๆ  เห็นได้จริงๆ

ข้อความของคุณสุชีพที่ว่า

“ส่วนนิพพานในปัจจุบันนั้น หมายความว่า บุคคลอาจปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ในปัจจุบันนี้เอง ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน

กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติจนเกิดความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด, ดับ, หลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่นในเหตุปัจจัย 12 (มีอวิชชาเป็นต้น) หรือในขันธ์ 5 (มีรูปเป็นต้น)

ย่อมนับได้ว่าเป็นผู้บรรลุ นิพพานในปัจจุบัน”

ข้อความนี้ คุณสุชีพก็ยอมรับว่าในพระไตรปิฎกมีการยืนยันว่า นิพพานนั้น สามารถเห็นได้ แต่ก็เหตุผลเดิมคือ คุณสุชีพเชื่อปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่า  จึงไม่เชื่อพระไตรปิฎกทั้งหมด  เมื่อไม่เชื่อก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร

มีคำถามขึ้นในใจว่า “คุณสุชีพรู้จักวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือไม่?

ผมคิดว่า “คุณสุชีพรู้จักหลวงพ่อวัดปากน้ำ และรู้จักวิชชาธรรมกาย แต่จะศึกษาลึกซึ้งหรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน

คุณสุชีพพยายามอธิบายคำว่า “ธรรมกาย” หลายครั้งหลายหนในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา”  ชุดนี้

คำตอบที่ได้มานั้น เป็นคำตอบอย่างเป็นวิชาการว่า มีคำว่าธรรมกายในพระไตรปิฎกทั้งของเถรวาทและมหายาน

โดยสรุป

พุทธวิชาการรู้ดีว่า คำสอนในพระไตรปิฏกนั้น แปลว่าอย่างไร ซึ่งถ้าแปลกันอย่างตรงไปตรงมา  โดยไม่ลำเอียงแล้ว  นิพพานนั้น เราสามารถเห็นได้และสามารถเห็นได้ในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอให้บรรลุมรรคผลนิพพานเสียก่อน

แต่เนื่องจากพุทธวิชาการไม่ เชื่อพระไตรปิฎกทั้งหมด เลือกเชื่อเท่าที่ปรัชญากับวิทยาศาสตร์ยอมรับได้  คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธวิชาการจึงลักลั่น ขัดแย้งกันเอง มั่วไปมั่วมา  ดูไม่เป็นวิชาการแต่อย่างใด

สาวกของพุทธวิชาการนั้น ก็ชอบแต่อยู่ในกรอบของกะลาครอบ  ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง  ครูบาอาจารย์ว่ามาอย่างไรก็เชื่อถืออยู่แค่นั้น 

ไม่มีความคิดที่จะเป็น “กบนอกกะลา

หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนวิชาธรรมกายมาหลายสิบปี  คำสอนของวิชชาธรรมกายนั้น สามารถอธิบายพระไตรปิฎกได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง เข้าใจ และสามารถปฏิบัติธรรมได้ด้วย 

พุทธวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็น “ธรรมะชายขอบ”  ไม่ได้ให้ความสนใจ

เมื่อตายไปแล้ว  จึงเกิดความเสียใจอย่างที่สุด ไม่รู้จะหาวิธีแก้ไขอย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว  ผมสามารถช่วยเหลือคนที่ตายไปแล้วได้

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเป็นคนที่มีกิเลส มีความเกลียด ความชอบ ความสะใจอย่างคนธรรมดานี่เอง  ผมจึงไม่ช่วยพุทธวิชาการเหล่านั้นเลย

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น