บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพานทันตาเห็น [3]


ในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม 2” มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

“ภัททวัคคิยกุมาร กลุ่มชายหนุ่ม 30 คนก็ดี พระปุกกุสาติผู้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วขอบวชก็ดี พระไตรปิฎกมิได้บ่งชัดว่า บรรลุอริยผลระดับไหน

มีคำอธิบายจากหลักฐานอื่นอย่างไร?

คุณสุชีพตอบคำถาม ดังนี้

ขอกล่าวเป็นรายๆ ไป รายภัททวัคคิยกุมาร พระไตรปิฎกใช้คำว่า

ได้ดวงตาเห็นธรรม ตามที่เข้าใจกันทั่วไป ก็ว่าเป็นพระโสดาบัน คือพระอริยบุคคลระดับแรกเท่านั้น

แต่พระอรรถกถาจารย์ คือ พระอาจารย์ผู้แต่งคำอธิบายพระไตรปิฎกขยายความว่า ดวงตาเห็นธรรมมี  3 ระดับ คือ โสดาปัตติมรรค, สกทาคามิมรรค, และอนาคามิมรรค กุมารทั้ง 30 ท่าน ได้บรรลุมรรคต่างๆ กัน 3 ระดับดังกล่าวข้างต้น

ส่วนรายที่  2 พระปุกกสาติ ผู้ฟังธรรมแล้วขอบวช แต่ถูกโคขวิดสิ้นชีวิตนั้น  ความจริงพระปุกกสาติบวชมาก่อนแล้ว เพียงแต่ครองเพศภิกษุ บวชอุทิศพระบรมศาสดา ทั้งที่ไม่รู้จัก

เมื่อฟังธรรมแล้ว ได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง จึงได้ทราบว่า ตนพบพระศาสดาแล้ว จึงกราบขอขมาแล้วขอบวชให้ถูกต้องสมบูรณ์

พระไตรปิฎกมิได้ระบุชัดว่า ท่านบรรลุมรรคผลชั้นไหน แต่ในท้ายธาตุวิภังคสูตร ซึ่งว่าด้วยเรื่องนี้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถึงคติของท่านพระปุกกสาติ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย! ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นโอปปาติกะ (เกิดเติบโตขึ้นทันที) เพราะสิ้นสัญโญชน์เบื้องต่ำ 5 จะปรินิพพานในที่นั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา”

โดยใจความก็คือ เป็นพระอนาคามีบุคคล เกิดในชั้นสุทธาวาส และจะนิพพานในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดอีก

พระ อรรถกถาจารย์อธิบายว่า พอสิ้นชีวิต (หลังจากฟังธรรมได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว) ก็ไปเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา และได้บรรลุอรหัตตผลในทันทีที่เกิดขึ้น
(อรรถกถาธาตุวิภังคสูตร หน้า 704)

วิพากษ์วิจารณ์

ในบทความเรื่อง “นิพพานทันตาเห็น [1-2]”  ผมได้ย้ำหลายครั้งว่า คุณสุชีพซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นตัวแทนของพุทธวิชาการ เชื่อปรัชญากับเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก 

จากคำตอบข้างตนนั้น  ดูเหมือนว่า คุณสุชีพจะเชื่อพระอรรถกถาจารย์ด้วย

ประเด็นนี้ ผมขอฟังธงเลยว่า คุณสุชีพไม่ได้เชื่อพระอรรถกถาจารย์ไปทั้งหมด

คุณสุชีพจะไปเลือกข้อความในอรรถกถามาเป็นหลักฐานยืนยันก็ต่อเมื่อคำอธิบาย ปรัชญากับวิทยาศาสตร์ไม่มี  จึงจำเป็นต้องพึ่งอรรถกถาจารย์

อย่างไรก็ดี ขนาดไปนำเอาข้อความของอรรถกถามาตอบแทนแล้ว คุณสุชีพก็ยังอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจนไม่ได้อยู่ดีว่า ที่คุณสุชีพเขียนๆ ไปนั้น จะต้องทำอย่างไร

คุณสุชีพอ้างข้อความของ อรรถกถาว่า

“พระอรรถกถาจารย์ คือพระอาจารย์ผู้แต่งคำอธิบายพระไตรปิฎกขยายความว่า ดวงตาเห็นธรรมมี 3 ระดับ คือ
โสดาปัตติมรรค,
สกทาคามิมรรค, และ
อนาคามิมรรค

กุมารทั้ง 30 ท่าน ได้บรรลุมรรคต่าง ๆ กัน 3 ระดับดังกล่าวข้างต้น”

จากข้อความข้างต้น คุณสุชีพยังไม่ได้อธิบายว่า
ดวงตาเห็นธรรมที่เป็นโสดาปัตติมรรคเป็นอย่างไร
ดวงตาเห็นธรรมที่เป็นสกทาคามิมรรคเป็นอย่างไร
ดวงตาเห็นธรรมที่เป็นอนาคามิมรรคเป็นอย่างไร

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณสุชีพไม่เคยอธิบายเลยว่า “การเห็น” ธรรมะที่คุณสุชีพกล่าวถึงนั้น  เห็นอย่างไร ใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการเห็น

คำตอบของคุณสุชีพตอนหนึ่งกล่าวว่า

“เมื่อฟังธรรมแล้ว ได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง  จึงได้ทราบว่า ตนพบพระศาสดาแล้ว จึงกราบขอขมาแล้วขอบวชให้ถูกต้องสมบูรณ์”

ข้อเขียนตรงนี้ของคุณสุชีพสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะ คุณสุชีพต้องอธิบายอีกมากเลยว่า

พระปุกกสาติเมื่อพบพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่รู้เลยหรือว่า ที่กำลังทรงสั่งสอนตนเองอยู่นั้น “เป็นพระพุทธเจ้า”

พระปุกกสาตินั้น ศรัทธาพระพุทธเจ้ามาก ถึงกับบวชให้เลย บวชให้ตั้งแต่ยังไม่พบพระพุทธเจ้า  แต่พบแล้ว ได้รับการสั่งสอนแล้ว ยังไม่รู้หรือว่า พระพุทธเจ้ากำลังทรงสั่งสอนตนเองอยู่

พระพุทธเจ้ามีรูปร่างลักษณะที่ดีกว่าพระอื่นๆ พระพุทธเจ้าจะต้องมีพระติดตามไปด้วยจำนวนมาก  พระปุกกสาติไม่รู้เชียวหรือว่า พระพุทธเจ้ากำลังทรงสั่งสอนตนเองอยู่

คำตอบของคุณสุชีพอีกตอนหนึ่ง มีว่า

“พระ อรรถกถาจารย์อธิบายว่า พอสิ้นชีวิต (หลังจากฟังธรรมได้บรรลุอนาคามิผลแล้ว) ก็ไปเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา และได้บรรลุอรหัตตผลในทันทีที่เกิดขึ้น
(อรรถกถาธาตุวิภังคสูตร หน้า 704) ”

เมื่อพระปุกกสาติบรรลุ พระอนาคามีแล้ว ซึ่งคุณสุชีพก็อธิบายไม่ได้ว่า บรรลุพระอนาคามีอย่างไร ก็ถูกโคขวิดตาย แล้วไปเกิดเป็นรูปพรหมในชั้นอวิหา

พอเกิดปุ๊ปก็เป็นอรหันต์เลย

กิเลสตัวท้ายๆ ที่อยู่ในกายของพระอนาคามีคือ มานะ อุทธัจจะ และอวิชา  มันจะหายไปได้อย่างไร

ไม่มีคำอธิบายจากคุณสุชีพ

ก่อนที่จะอธิบายคำสอนนของสายวิชาธรรมกาย จะขออธิบายเกี่ยวกับอรรถกถา ฎีกา อนุฏีกา และอัตโนมติ [(ความเห็นส่วนตัว) ไม่ใช่อัตโนมัติ ]

พุทธวิชาการส่วนใหญ่ ตั้งกฎและยอมรับกฎเกี่ยวกับเอกสารของศาสนาพุทธเถรวาท ว่า

1) พระไตรปิฎก 2) อรรถกถา 3) ฎีกา 4) อนุฏีกา และ 5) อัตโนมติ มีความสำคัญเรียงลำดับมาตามนั้น

สำหรับผมเองนั้น ในฐานะที่เรียนมาทางภาษาศาสตร์และปรัชญา  ผมฟันธงเลยว่า อรรถกถาจารย์อธิบายพระไตรปิฎกมั่วพอๆ กันกับพุทธวิชาการสมัยนี้

แตกต่างกันเพียงแต่ว่า อรรรถกถาจารย์เข้าใจผิดไปเอง โดยไม่มีอิทธิพลของวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปรัชญาของอินเดียเอง อาจจะส่วนทำให้อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป

ดังนั้น นอกจากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกแล้ว (พระไตรปิฎกบางส่วน มีการเขียนเข้าไปใหม่ในชั้นหลัง) อรรถกถา ฎีกา อนุฏีกา และอัตโนมติ มีความสำคัญเท่ากัน  มีโอกาสผิดพลาดได้เท่าๆ กัน ไม่จำเป็นจะต้องมีจัดลำดับให้วุ่นวายไปอีก

การที่พุทธวิชาการพยายามจัดลำดับเอกสารของศาสนานั้น ก็เพื่อทำให้คำอธิบายของตนดูดีขึ้น  เอาไว้ข่มชาวบ้าน ว่าอย่างนั้นดีกว่า

ถ้าถามว่า “คำสอนของพุทธปฏิบัติธรรมต่างๆ นั้นเป็นอะไร ในเอกสารของศาสนาพุทธ

คำตอบ ก็คือ เป็น อัตโนมติ  ความเห็นส่วนตัวของพระปฏิบัติต่างๆ

อัตโนมติเหล่านี้ มีทั้งตรงและไม่ตรงกับพระไตรปิฎกก็มี ท่านผู้อ่านก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวของท่านเอง ว่าจะเชื่อไปทางไหน อย่างไร

คำอธิบายของวิชาธรรมกายในประเด็นปัญหาที่กล่าวถึงไปข้างต้น

หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายไว้อย่างชัดเจน เรื่องกิเลสกับการบรรลุธรรมะในระดับต่างๆ ไว้ว่า  กิเลสหลักๆ ที่ขวางกั้นไม่ให้พวกเราไปนิพพานได้ มี  7 กลุ่ม

กิเลสเหล่านั้น มีอยู่ประจำกายต่างๆ ดังนี้


ผมขอยกคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาเป็นหลักฐาน คำเทศน์ที่ว่าคือ เรื่อง “อาทิตตปริยายสูตร” เทศน์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2496 เรื่องกิเลสหมดไปจากกายต่างๆ ดังนี้

หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่นแหละ  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายมนุษย์ละเอียด อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ของกายมนุษย์หยาบหายไปหมด เหลือของมนุษย์ละเอียด

ใจก็หยุดอย่างนั้นแหละ ในศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียดก็เห็นแบบเดียวกันอย่างนี้แหละ ก็ถึงกายทิพย์ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ หายไปหมด

พอเข้าถึงกายทิพย์แล้ว หยุดอยู่ในกลางกายทิพย์อย่างนี้แหละ จะเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด

หยุดอยู่กลาง กายทิพย์ละเอียดอย่างนี้แหละก็จะเข้าถึงกายรูปพรหมนี่ โลภะ โทสะ โมหะ หายไปหมดแล้วเหลือแต่ ราคะ โทสะ โมหะ

หยุดดังนี้ในกายรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดจะเข้า ถึงกายอรูปพรหมนี่ ราคะ โทสะ โมหะ หายไปหมดอีกแล้ว

หยุดอยู่ดังนี้แหละ ในกายอรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียดเข้าถึงกายธรรมพอเข้า ถึงกายธรรมเท่านั้น กามราคานุสัย อวิชชานุสัย ปฏิคานุสัย ก็หายไปหมด

กายธรรมเป็นวิราคธาตุวิราคธรรม ส่วนหยาบส่วนย่อยเป็นวิราคธาตุ

วิราคธรรมที่ยังเจือปนระคนอยู่ด้วยฝ่ายหยาบยังไม่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรมแท้สิ้นเชิงทีเดียว แต่เข้าเขตวิราคธาตุวิราคธรรมแล้ว

ก็หยุดอยู่ในกายธรรมทั้งหยาบทั้งละเอียด อย่างนี้แหละจะเข้าถึงกายโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียดนี่หมด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เข้าถึงพระโสดาไป

แล้วหยุดอยู่ที่พระโสดาดังนี้ พอถูกส่วนเข้าจะเข้าถึงพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด กามราคะ พยาบาท อย่างหยาบหมด

หยุดอยู่ในพระสกทาคาอย่างนี้ทั้งหยาบทั้งละเอียดถูกส่วนดังนี้ จะเข้าถึงพระอนาคา กามราคะพยาบาทอย่างละเอียด หมด

เหลือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

หยุดอยู่ในกายพระอนาคาอย่างนี้แหละ จะเข้าถึงกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา หลุดหมด

พอเข้าถึงกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียดนี้ เป็นวิราคธาตุวิราคธรรมแท้ นี้เสร็จกิจใน พระพุทธศาสนา

แต่ให้รู้จักหลักอย่างนี้ทางเป็นจริงของพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ เมื่อเรารู้จักหลักจริงดังนี้แล้ว ให้ปฏิบัติไปตามแนวนี้ ถ้าผิดแนวนี้จะผิดทางมรรคผลนิพพาน

จะเห็นว่า กายธรรมพระอรหัตไม่มีกิเลสเลย ซึ่งก็เป็นไปตามคำสอนในพระไตรปิฎก

ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดู มีใครบ้างไหมที่จะอธิบายเรื่องกิเลสและสังโยชน์ได้อย่างชัดเจนและชัดแจ้งอย่างนี้ 

ส่วนใหญ่แล้ว กิเลสต่างๆ ยังอธิบายกันมั่วไปหมด

ยิ่งชุดระหว่าง โลภะ โทสะ โมหะ กับ ราคะ โทสะ โมหะ อธิบายกันแบบไปไม่เป็น เพราะ ไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

ในทางวิชาธรรมกายนั้น  ถ้าเราทำวิชาธรรมกายอยู่ในระดับไหนถึงตลอดเวลา เราก็บรรลุธรรมในระดับนั้น

ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนที่เราไปสอนนั้น เราสามารถสอนให้เห็นกายธรรมพระอรหัตได้ สอนให้ขึ้นไปนิพพานได้ ภายในเวลา  1 ชั่วโมง 

พอเลิกสอนแล้ว เด็กก็กลับเป็นเด็กเหมือนเดิม

ดวงธรรม กายธรรมภายใน เวลาท่านวิ่งเล่นกัน  ท่านก็มองไม่เห็นแล้ว  แต่เมื่อเราถามว่า ยังเห็นดวงธรรม กายธรรมในท้องหรือไม่  ท่านก็จะมองเห็นได้ (ทั้งๆ ที่ลืมตาอยู่)  แต่เวลาเล่น เวลาเรียน ท่านก็ไม่เห็นแล้ว

กรณีนี้ เด็กนักเรียนก็ยังเป็นคนธรรมดาอยู่ แต่ดวงบารมีของนักเรียนจะใหญ่ขึ้น และสว่างขึ้น

ท่านที่จะบรรลุธรรมะชั้นใด เมื่อเลิกฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว  ท่านจะเห็นกายนั้นอยู่ในท้องของท่านตลอดเวลา และตลอดไป 

ถ้าเห็นกายธรรมพระอรหัตตลอดเวลา ก็แสดงว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว

คำถามเรื่อง ผู้มีดวงตาเห็นธรรมในพระไตรปิฎกนั้น  เราไม่สามารถบอกได้เลยว่า  บุคคลเหล่านั้น บรรลุธรรมแค่นั้น

รู้ได้แต่เพียงว่า เห็นดวงปฐมมรรคหรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วเท่านั้น

ในกรณีของพระปุกกสาติ การสันนิษฐานของพระอรรถกถาจารย์มีทั้งถูกและผิด  พระปุกกสาติน่าจะบรรลุพระอนาคามีแล้ว ไปเกิดเป็นพรหมแล้ว แต่จะต้องปฏิบัติธรรมต่ออีก  ไม่ใช่เกิดปุ๊ปจะบรรลุพระอรหันต์เลยนั้น  เป็นไปไม่ได้

อันนี้ ก็เป็นปัญหาของพระอรรถกถาจารย์อีกประการหนึ่ง เหมือนกัน ที่พยายามจะอธิบายพระไตรปิฎกทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ  ถ้าตรงไหนไม่เข้าใจก็น่าจะบอกหรือเขียนไปเลย

การทำอย่างนั้นของพระอร รถกถาจารย์ส่งผลเสียอย่างมากในศาสนาพุทธยุคต่อมา เนื่องจาก พุทธวิชาการเกิดมา ลืมเอาสมองส่วนคิดมาด้วย  จำอย่างเดียว 

จึงทำให้ศาสนาพุทธในยุคนี้ผิดเพี้ยนไปหมด

พระปฏิบัติต่างๆ สอนถูกแล้ว  พุทธวิชาการก็บอกว่าสอนผิด  ปัญหามันอยู่ที่ว่า พระปฏิบัติท่านไม่เขียนหนังสือ  แต่พุทธวิชาการเขียน

คนเรียนหนังสือในยุคนี้ จึงโกงกินบ้านเมือง โกงกินบริษัทอย่างมหาศาล

พุทธวิชาต่างๆ ก็โทษโน่น โทษนี่ไป โทษโทรทัศน์ โทษสื่อ โทษไปนานาประการ ไม่ได้ดูตัวเองเลยว่า ตัวเองสอนผิด สังคมไทย ถึงเป็นแบบนี้...



นิพพานทันตาเห็น [2]


ในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม 2” มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

“สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเองก็ดี ทิฏฐธัมมนิพพาน นิพพานในปัจจุบันก็ดี มีพระพุทธภาษิตอธิบายไว้อย่างไร”

คุณสุชีพตอบคำถาม ดังนี้

เบื้องต้นขอบันทึกหลักฐานไว้ก่อน เพื่อสะดวกในการติดตามเรื่องและค้นคว้าต่อไป

พระพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับเรื่อง สันทิฏฐิกนิพพานและทิฏฐธัมมนิพพานนั้น มาในพระไตรปิฎก  4 เล่ม คือ 16/22, 139-140, 17/199, 20/202 และ 23/475

หลักการของคำว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเองนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงแก่ชานุสโสณิพราหมณ์ (20/202) ว่า หมายถึง ดับเพลิง คือ ราคะ โทสะ โมหะ

ผู้มีเพลิงกิเลสเหล่านี้ เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว  ย่อมคิดเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ได้รับทุกข์โทมนัสทางจิต

เมื่อ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้เด็ดขาด ก็ย่อมไม่คิดเบียดเบียนเช่นนั้น ไม่ได้รับทุกข์โทมนัสทางจิตเช่นนั้น

นี่แหละที่เรียกว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องให้คนอื่นมาเห็นแทน หรือมาบอกว่าได้บรรลุแล้ว)

ส่วนนิพพานในปัจจุบันนั้น หมายความว่า บุคคลอาจปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ในปัจจุบันนี้เอง ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน

กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติจนเกิดความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด, ดับ, หลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่นในเหตุปัจจัย 12 (มีอวิชชาเป็นต้น) หรือในขันธ์ 5 (มีรูปเป็นต้น)

ย่อมนับได้ว่าเป็นผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน

วิพากษ์วิจารณ์

ในบันทึกนี้ ผมจะวิจารณ์ความอ่อนด้อยของพุทธวิชาการ และความเข้าใจของพุทธวิชาการที่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง

จนส่งผลให้การเกิดมาในชาตินี้ “เปล่าประโยชน์”  ไปโดยสิ้นเชิง  ไม่สามารถสร้างบารมีได้บ้างเลย

การเกิดมาของคนในแต่ละชาตินั้น  วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติมให้ครบ  30 ทัศ

เมื่อบารมีทั้ง 30 ทัศครบเมื่อไหร่ ก็ได้เป็นไปตามที่อธิษฐานได้ เช่น พระอรหันต์สาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือ จักรพรรดิ เป็นต้น

จักรพรรดิในที่นี้ หมายถึง จักรพรรดิที่บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่จักรพรรดิอย่างเช่น นโปเลียนมหาราช หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช 

จักรพรรดิท่านสร้างบารมีมาทางอาณาจักร ท่านจึงบรรลุมรรคผลนิพพานแบบไม่ต้องบวช

ความอ่อนด้อยของพุทธวิชาการทั้งหลายในการศึกษาพระศาสนาในยุคนี้ เป็นเพราะ พุทธวิชาการหลงผิด ไปเชื่อวิชาการ จึงดูถูกพระปฏิบัติธรรมในทางวิชาการ

การดูถูกพระปฏิบัติธรรมในทางวิชาการเป็นอย่างไร?

ขอให้ผู้อ่านสังเกตง่ายๆ พุทธวิชาการเคยนำคำสอนหรือข้อเขียนของพระปฏิบัติธรรม เช่น คำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำ คำสอนของหลวงปู่มั่น ฯลฯ มาวิเคราะห์ให้เป็นวิชาการ อย่างที่ผมกำลังทำอยู่หรือไม่?

การกระทำของพุทธวิชาการอย่างนั้น ในทางปรัชญา เราเรียกกันว่า “ผลักดันให้ไปอยู่ชายขอบ

อะไรก็ตามที่เป็นของชายขอบ ก็จะไม่ได้รับความสนใจของพวกกลุ่มวิชาการหลักๆ ของสังคม

ยกตัวอย่างของคุณสุชีพเอง  คุณสุชีพอยู่ในยุคที่มีพระปฏิบัติธรรมเก่งๆ อยู่มาก เช่น หลวงพ่อปาน หลวงปู่มั่น หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมหาสีสยาดอว์ของพม่า ฯลฯ เป็นต้น

คุณสุชีพก็รู้ว่า การในศึกษาศาสนาพุทธนั้น ต้อง “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”  แต่คุณสุชีพก็เลือกที่จะสมาทานความรู้จากตะวันตก คือ ปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก คือ

เชื่อปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก

คุณสุชีพจึงเลือกที่จะ ศึกษาศาสนาพุทธอย่างเป็นนักปรัชญา  จึงทำให้การเกิดในชาตินี้ เสียประโยชน์ไปโดยสิ้นเชิง 

ซึ่งคุณสุชีพก็เสียใจในประเด็นนี้มาก [สัมภาษณ์ตอนที่คุณสุชีพตายไปแล้ว]

ข้อความของคุณสุชีพที่ว่า

“นี่แหละที่เรียกว่า นิพพานที่เห็นได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องให้คนอื่นมาเห็นแทน หรือมาบอกว่าได้บรรลุแล้ว)”

เป็นหลักฐานที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คุณสุชีพศึกษาศาสนาพุทธอย่างนักปรัชญา

คุณสุชีพนี่ เท่าที่จำได้ แต่ไม่แน่ใจนัก ท่านเป็นเปรียญเก้าตั้งแต่ยังเป็นเณร

ภาษาบาลีท่านมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก คำว่า ญาณทัสสนะ แปลว่า การเห็นการรู้ (ญาณ=รู้, ทัสสนะ=เห็น)  คำว่า เห็นกับรู้ในพระไตรปิฎกมีเป็นจำนวนมาก  คุณสุชีพก็รู้ดี

แต่คุณสุชีพเชื่อปรัชญามากกว่า จึงทำใจให้รับไม่ได้ว่า “ในศาสนาพุทธมีการเห็นด้วยตาของกายภายใน”  ข้อความในพระไตรปิฎกมี  แต่คุณสุชีพไม่เชื่อ

ในทางวิชาธรรมกายนั้น อายตนะนิพพาน (ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไปอุบัติอยู่)  พระนิพพาน (พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์) และนิพพาน (คำเรียกว่าอายตนะนิพพานกับนิพพาน) นั้นมีจริงๆ  เห็นได้จริงๆ

ข้อความของคุณสุชีพที่ว่า

“ส่วนนิพพานในปัจจุบันนั้น หมายความว่า บุคคลอาจปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานได้ในปัจจุบันนี้เอง ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน

กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติจนเกิดความเบื่อหน่าย, คลายกำหนัด, ดับ, หลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่นในเหตุปัจจัย 12 (มีอวิชชาเป็นต้น) หรือในขันธ์ 5 (มีรูปเป็นต้น)

ย่อมนับได้ว่าเป็นผู้บรรลุ นิพพานในปัจจุบัน”

ข้อความนี้ คุณสุชีพก็ยอมรับว่าในพระไตรปิฎกมีการยืนยันว่า นิพพานนั้น สามารถเห็นได้ แต่ก็เหตุผลเดิมคือ คุณสุชีพเชื่อปรัชญากับวิทยาศาสตร์มากกว่า  จึงไม่เชื่อพระไตรปิฎกทั้งหมด  เมื่อไม่เชื่อก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร

มีคำถามขึ้นในใจว่า “คุณสุชีพรู้จักวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือไม่?

ผมคิดว่า “คุณสุชีพรู้จักหลวงพ่อวัดปากน้ำ และรู้จักวิชชาธรรมกาย แต่จะศึกษาลึกซึ้งหรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน

คุณสุชีพพยายามอธิบายคำว่า “ธรรมกาย” หลายครั้งหลายหนในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา”  ชุดนี้

คำตอบที่ได้มานั้น เป็นคำตอบอย่างเป็นวิชาการว่า มีคำว่าธรรมกายในพระไตรปิฎกทั้งของเถรวาทและมหายาน

โดยสรุป

พุทธวิชาการรู้ดีว่า คำสอนในพระไตรปิฏกนั้น แปลว่าอย่างไร ซึ่งถ้าแปลกันอย่างตรงไปตรงมา  โดยไม่ลำเอียงแล้ว  นิพพานนั้น เราสามารถเห็นได้และสามารถเห็นได้ในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอให้บรรลุมรรคผลนิพพานเสียก่อน

แต่เนื่องจากพุทธวิชาการไม่ เชื่อพระไตรปิฎกทั้งหมด เลือกเชื่อเท่าที่ปรัชญากับวิทยาศาสตร์ยอมรับได้  คำอธิบายพระไตรปิฎกของพุทธวิชาการจึงลักลั่น ขัดแย้งกันเอง มั่วไปมั่วมา  ดูไม่เป็นวิชาการแต่อย่างใด

สาวกของพุทธวิชาการนั้น ก็ชอบแต่อยู่ในกรอบของกะลาครอบ  ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง  ครูบาอาจารย์ว่ามาอย่างไรก็เชื่อถืออยู่แค่นั้น 

ไม่มีความคิดที่จะเป็น “กบนอกกะลา

หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนวิชาธรรมกายมาหลายสิบปี  คำสอนของวิชชาธรรมกายนั้น สามารถอธิบายพระไตรปิฎกได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง เข้าใจ และสามารถปฏิบัติธรรมได้ด้วย 

พุทธวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็น “ธรรมะชายขอบ”  ไม่ได้ให้ความสนใจ

เมื่อตายไปแล้ว  จึงเกิดความเสียใจอย่างที่สุด ไม่รู้จะหาวิธีแก้ไขอย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว  ผมสามารถช่วยเหลือคนที่ตายไปแล้วได้

อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเป็นคนที่มีกิเลส มีความเกลียด ความชอบ ความสะใจอย่างคนธรรมดานี่เอง  ผมจึงไม่ช่วยพุทธวิชาการเหล่านั้นเลย

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...



นิพพานทันตาเห็น [1]


ในหนังสือ “คำถาม คำตอบ: ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม 5” ของสุชีพ ปุญญานุภาพ มีผู้ถามคุณสุชีพว่า

นิพพานในปัจจุบันทันตาเห็น มีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่าอย่างไร?

มีพระพุทธวจะเรื่องนี้อย่างไร

คุณสุชีพตอบไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว หน้า 37 – 38  ว่า

นิพพานในปัจจุบันทันตาเห็น มีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า “ทิฏฐธัมมนิพพาน”  มีพระพุทธวจนะในเรื่องนี้ หลายประการคือ

1) ทรงสอนให้เจริญอนิจจสัญญา คือ ความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง เพื่อละความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่

ตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้มีความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยง  ย่อมอนัตตสัญญา ความกำหนดหมายว่ามิใช่ตัวตนตั้งมั่น 

ภิกษุผู้มีความกำหนดหมายว่า มิใช่ตัวตน ย่อมบรรลุความถอนขึ้นเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ คือ ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่  อันเป็นนิพพานในปัจจุบัน (ทันตาเห็น) (23/205/365-6)

จากพระพุทธวจนะข้อนี้ การถอนอัสมิมานะความถือตัวว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่เสียได้ เป็นนิพพานปัจจุบันทันตาเห็น 

จะถอนความถือตัวเช่นนั้นได้ด้วยการเจริญอนิจจสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง ซึ่งจะทำให้เกิดอนัตตสัญญา ความกำหนดหมายว่า มิใช่ตัวตนเป็นผลต่อเนื่อง

2. ทรงสอนให้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเพื่อดับขันธ์ 5 (ซึ่งย่อเป็นร่างกายจิตใจ หรือรูปนาม) อันชื่อว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ภิกษุผู้หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นขันธ์ 5 ย่อมควรแก่ถ้อยคำว่า “ผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน (ทันตาเห็น)” (17/202/199)

3. ทรงสอนให้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อดับปัจจยาการ (อาการอันเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน มีอวิชชา (ความไม่รู้อริยสัจ 4) สังขาร (เจตนาในการทำดีทำชั่ว) วิญญาณและนามรูป เป็นต้น

จนถึงความเกิดความแก่ความตาย และความทุกข์อื่นๆ ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ภิกษุผู้หลุดพ้น เพราะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นปัจจยาการ ย่อมควรแก่ถ้อยคำว่า “ผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน (ทันตาเห็น) (16/268/139-140)

4. ทรงสอนมิให้ชื่นชมยินดี ติดอยู่  หรือยึดมั่นถือมั่นอารมณ์ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ภิกษุผู้ไม่ยืดมั่นถือมั่นย่อมปรินิพพานได้ นี่คือเหตุปัจจัยให้ปรินิพพานได้ในปัจจุบัน (ทันตาเห็น) (18/192/138)

จากหลักฐานที่ค้นมาค่อนข้างละเอียดจากพระไตรปิฎกดังกล่าวข้างต้น ก็พอสรุปได้ว่า ถ้าเบื่อหน่ายคลายกำหนัด คลายความยึดมั่นในตัวตน ในร่างกายจิตใจ ในการเวียนว่ายตายเกิด ในอารมณ์ หรือสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจได้

ก็จะบรรลุพระนิพพานได้ในปัจจุบันทันตาเห็น

จากคำตอบของคุณสุชีพที่มาข้างต้นนั้น  ผมว่าผู้อ่านก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า โดยสรุปแล้ว การที่จะเห็นนิพพานในปัจจุบันนั้นจะทำอย่างไร

คุณสุชีพอธิบายวิธีการเห็นนิพพานปัจจุบันว่า เห็นได้โดยการเจริญอนิจสัญญา ให้คลายกำหนัดเพื่อดับขันธ์  5 ดับปัจจยาการ [อาการอันเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน มีอวิชชา (ความไม่รู้อริยสัจ 4) สังขาร (เจตนาในการทำดีทำชั่ว) วิญญาณและนามรูปเป็นต้น

และ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอารมณ์ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การปฏิบัติแบบนั้น จะทำให้เราสามารถบรรลุพระนิพพานได้ในปัจจุบันทันตาเห็น

แต่คุณสุชีพก็อธิบายได้แค่นั้น ซึ่งผู้อ่านก็ไม่รู้จะทำวิธีไหน และก็ไม่อธิบายให้ต่อเนื่องกับหัวข้อธรรมะอื่นๆ เช่น กิเลสร้อยแปดพันเก้านั้นจะหลุดไปจากใจ/จิต/วิญญาณได้อย่างไร

เรื่องนี้ จะไปต่อว่าคุณสุชีพก็ไม่ได้ เพราะ ท่านเป็นพุทธวิชาการ  ท่านไม่ได้เป็นพุทธปฏิบัติธรรม ท่านก็ต้องตอบไปตามที่ท่านรู้และเข้าใจ

ประเด็นในเรื่องนี้ วิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้อย่าง ทั้งเห็นทั้งรู้ 

ในทางวิชาธรรมกายนั้น ถ้าเราอยากจะเห็นนิพพานนั้นง่ายมาก คือ ทำวิชา  18 กายให้ได้เท่านั้น 

การที่เห็นนี้ ไม่ใช่การมองเห็นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น เรายืนอยู่บนภูเขา แล้วมองยังมาเมืองเบื้องล่าง ไม่ใช่มองเห็นอย่างนั้น 

แต่กายธรรมของผู้ปฏิบัติจะ "ขึ้น" ไปอยู่บนอายตนะนิพพานเลย  จะเห็นกายธรรมของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เต็มไปหมด 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

อายตนะนิพพานนั้น ทำหน้าดึงดูดธาตุธรรมที่มีความละเอียดเสมอกัน  ในแง่ของวิชาธรรมกาย เมื่อเราปฏิบัติธรรมจนถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียด  กายของเราจะมีความละเอียดเท่ากับอายตนะนิพพาน 

ศูนย์นิพพานจึงดูดเอากายของเราขึ้นไปอุบัติอยู่ในนิพพานได้ 

ตอนที่กายธรรมของผู้ปฏิบัติ "ขึ้น" ไปอยู่บนอายตนนิพพานและเห็นนิพพานนั้น กิเลสของผู้ปฏิบัติไม่มีเลย หลุดหมดแล้ว

เป็นการหมดกิเลสชั่วขณะ 

พอเลิกทำวิชชาแล้ว กลับมาเป็นคนเดิม  ถ้าเป็นเด็กๆ ซนเหมือนเดิมแบบทันทีทันใด  ถ้าเป็นผู้ใหญ่อุปนิสัยใจคอจะดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ผลมากกว่าเด็กๆ

แต่เด็กๆ ฝึกวิชชานี้เป็นง่ายกว่าผู้ใหญ่  ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6  นี่ สอนชั่วโมงเดียวก็เห็นอายตนะนิพพานได้แล้ว

ถ้ามีคำถามว่า การขึ้นไปอยู่ในอายตนะนิพพานอย่างทันตาเห็น เป็นปัจจุบันนั้นของวิชาธรรมกายนั้น ขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่คุณสุชีพ ปุญญานุภาพ ยกขึ้นมาอธิบายหรือไม่

ผมขอบอกและยืนยันในทางภาษาศาสตร์ว่า “ไม่ขัดแย้งกัน” 

คุณสุชีพสรุปการบรรลุนิพพานในปัจจุบัน แบบทันตาเห็นไว้ดังนี้

จากหลักฐานที่ค้นมาค่อนข้างละเอียดจากพระไตรปิฎกดังกล่าวข้างต้น

ก็พอสรุปได้ว่า ถ้าเบื่อหน่ายคลายกำหนัด คลายความยึดมั่นในตัวตน ในร่างกายจิตใจ ในการเวียนว่ายตายเกิด ในอารมณ์ หรือสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจได้

ก็จะบรรลุพระนิพพานได้ในปัจจุบันทันตาเห็น

ผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย ที่ผ่านวิชา  18 กายไปแล้ว กิเลสต่างๆ หมดไปแล้ว ไม่เหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว

กิเลสต่างๆ มีอยู่ประจำกาย ดังนี้


ท่านผู้อ่านลองพิจารณาชื่อของกิเลสต่างๆ นั้น  พุทธวิชาการก็อธิบายกันมั่วไปหมด ไปรู้ว่าอะไร เป็นอะไร

คู่ที่พุทธวิชาการอธิบายมั่วกันมากก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ กับ ราคะ โทสะ โมหะ

ในทางวิชาธรรมกายอธิบายง่ายมาก  เป็นกิเลสของกายทิพย์กับกายพรหม  แล้วถ้าถามว่า มันแตกต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือ กิเลสมันหยาบมันละเอียดกว่ากัน

ในกายที่ละเอียดขึ้น กิเลสก็ละเอียดขึ้นตามไป

ถ้าเราทำวิชาแล้วเราอยู่กับกายทิพย์ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ จะไม่มีอยู่ในตัวเราเลย  ถ้าเราทำวิชาถึงกายธรรมพระอรหัต กิเลสต่างๆ หมดไปจากใจ-จิต-วิญญาณของเราโดยสิ้นเชิง

เราก็จะเห็นนิพพานอย่างปัจจุบันทันตาเห็นในชาตินี้  เห็นได้วันละหลายเที่ยวหลายหนด้วย ขึ้นอยู่กับว่า เราขยันทำวิชชาขนาดไหน 

การที่เราทำได้ถึงกายธรรมพระอรหัต และกายขึ้นไปอยู่บนนิพพานตามวิชา นี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว 

แต่ผู้ปฏิบัติสามารถดับกิเลสตัณหาต่างๆ ได้หมดสิ้นชั่วขณะหนึ่ง  จึงเข้าไปรู้ไปเห็นนิพพานได้

เมื่อเลิกปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ดวงบารมีจะโตขึ้น

โดยสรุป

วิชาธรรมกายนั้น ผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชา จะพบว่า วิชาธรรมกายนั้น สามารถอธิบายพระไตรปิฎกได้อย่างแจ่มแจ้ง แบบรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปสงสัยอะไรอีกแล้ว

ในขณะที่พุทธวิชาการหรือนักปริยัติอธิบายไปตามตำรา ซึ่งไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านได้แต่อย่างใด

การปฏิบัติธรรมตามแบบวิชาธรรมกายจะให้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธโดยพร้อมเพรียง  ว่าแต่ท่านจะเชื่อหรือไม่ และกล้าทดลองปฏิบัติตามหรือไม่เท่านั้น...